วิถีโหนด
คือการนำตาลโตนด พืชเศรษฐกิจ ที่มีอยู่กว่า 300,000 ต้นในพื้นที่นี้ มาแปรรูป ที่ไม่ใช่แค่นำมาทำน้ำตาลปีบ หรือน้ำตาลสด แต่นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลโตนดผง, สบู่ตาลโตนด และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่นำทุกส่วนของต้นตาลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
วิถีนา
การทำนาเป็นอาชีพหลักในชุมชนที่นี่ แต่เนื่องจากเป็นรอยต่อกับทะเลสาบสงขลา ทำให้การทำนาที่นี่จะต้องคิดถึงผลกระทบ ปุ๋ยที่จะใช้ต้องเป็นชีวภาพ ต้องปรับสภาพดินให้ดี เพื่อให้น้ำจากนาข้าวที่จะไหลไปลงทะเลสาบสงขลามีคุณภาพที่ดี ไม่ทำลายระบบนิเวศน์ หนึ่งในภูมิปัญญาของคนที่นี่ก็คือการ ปลูกต้นปอเทืองในพื้นที่ที่ใช้ทำนา เพื่อปรับสภาพดินและทำให้ดินอุดมสมบูรณ์โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ย ซึ่งการทำนาที่นี่ก็ไม่ได้ทำตลอด เพราะต้องทำตามฤดูกาลคือก่อนช่วงหน้าฝน
วิถีเล
ชาวบ้านในบริเวณนี้ มีความผูกพันอยู่กับทะเลสาบสงขลา ทะเลสาบที่เป็นเสมือนแหล่งอาหาร และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ที่หล่อเลี้ยงเกษตรกรในจังหวัดสงขลา เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ทะเลสาบสงขลาแห่งนี้ เคยเผชิญปัญหาความตืนเขินของทะเลสาบ คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลง และปริมาณสัตว์น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ชาวประมงในพื้นที่เริ่มเห็นปัญหา เลยมีการรวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟู ทำให้ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น